ประวัติความเป็นมา

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส. หรือ KMI) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ในฐานะโครงการภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ดำเนินการขับเคลื่อนงานการจัดการความรู้ในสังคมไทย โดยมี ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาพิเศษของ สกว. (ในขณะนั้น) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

สคส. ได้ศึกษาและพัฒนาศาสตร์ด้านการจัดการความรู้ผ่านโครงการนำร่องต่างๆ อาทิเช่น โครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลภาคเหนือ ตอนล่าง โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้การทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (โดยมูลนิธิข้าวขวัญ) ฯลฯ ประสบการณ์ที่ได้รับทำให้ สคส. สามารถนำทฤษฎี การจัดการความรู้ของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย จนสามารถสร้างโมเดลการจัดการความรู้ และเครื่องมือ การจัดการความรู้ที่ใช้ได้ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และในชุมชน

ในวันที่ 19 ตุลาคม 2550 สคส. ได้รับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (ม.สคส.) ซึ่งถือเป็นการแปรเปลี่ยนรูปแบบ การทำงานในลักษณะโครงการไปสู่การเป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานแบบ “กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)” คือบริหารองค์กรให้เลี้ยงตัวเองได้คล้ายกับ องค์กรภาคธุรกิจ หากแต่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การมุ่งทำกำไรสูงสุด เป้าหมายหลักในการดำเนินงานยังคงเป็นไปเพื่อสร้างเสริมให้คนไทยได้พัฒนาศักยภาพ ในการเรียนรู้ ให้สามารถนำการจัดการความรู้ไปใช้ในชีวิตและในการทำงาน เรียกได้ว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตน พัฒนางาน พัฒนาองค์กร และพัฒนา สังคมไปพร้อมๆ กัน

เป้าหมายของเรา

ด้วยมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (ม.สคส.)  มีบทบาทในการพัฒนายุทธศาสตร์และส่งเสริมการใช้ การจัดการความรู้ (KM) ของสังคมไทยในภาคส่วนต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย ใน 3 ระดับ คือ

  1. ระดับบุคคล
    1. สามารถใช้ความรู้ ในการปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเอง และที่สำคัญ ปรับเปลี่ยนการทำงานร่วมกับกลุ่มให้ดีขึ้น: เกิด socialization กันทางความรู้ ความคิด และเกิดการร่วมมือกันทำงานเป็นกลุ่ม เป็นทีม
    2. ยกระดับการเรียนความรู้ ไปสู่ความคิด (ปัญญา)
    3. ยกระดับการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด และระบบการให้คุณค่า เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Transformative Learning)
  2. ระดับองค์กร
  1. เพิ่ม Productivity/นวัตกรรมการทำงาน/ Business outcome เพื่อตอบเป้าหมายใหญ่องค์กร
  2. ให้มี bottom-up creativity ขึ้น ในองค์กรทุก sector (ราชการ ธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน)
  3. ปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน/โครงสร้างหน่วยงานให้ powerful ขึ้น
  4. มีความสามารถในการปรับตัว จนเข้าไปเป็นวิถีและวัฒนธรรมใหม่ (Learning Organization)
  5. มีความสามารถในการเผชิญความยากลำบากในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะ KM ที่ดี ทำให้เกิด การสั่งสมคุณภาพคน ทำให้คนในองค์กรพร้อมใจกันหาวิธีปรับตัว ฟันฝ่าผ่านสถานการณ์ ยากลำบากไปได้ และเรียนรู้สู่การประกอบธุรกิจ/ภารกิจในรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม
  1. ระดับสังคม
    1. เพิ่มการเข้าถึงโอกาสของคนในสังคมให้ทั่วถึงมากขึ้น (ความเท่าเทียม เป็นธรรมของสังคม – equity) ให้โอกาสคนตัวเล็กๆ ในท้องถิ่น ชุมชน ชายขอบของสังคมไทยได้เข้าถึงและมีโอกาสพัฒนาตัวเอง
    2. ผู้คนเกิดการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ บนฐานความรู้และข้อมูลเลือกทางเดินเพื่อสร้างสุขภาวะร่วมกัน (ลดทุกขภาวะ อันเกิดจากความไม่รู้ ไม่เท่าทันการเปลียนแปลง)

ทีมงานของเรา

คณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม