คุณศิรินาถ ได้ถามมา ๒ คำถาม คือ  ๑. อยากทราบว่า KM เกิดขึ้นได้อย่างไรคะ และ ๒. ความจำเป็นที่ต้องเกิด KM มีสาเหตุเนื่องจากประการใด

สคส. ขอตอบ ๒ คำถามนี้ไปพร้อมกัน และขอตอบในมุม “KM ในบริบทไทย” นะคะ

“KM ในบริบทไทย”  เกิดขึ้นเมื่อ สคส. นำ KM มาตีความใหม่  ตามที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ก่อตั้ง สคส. ได้กล่าวไว้ในรายงานประจำปี ๒๕๕๐ ของ สคส. แล้วสามารถตอบคำถามนี้ได้เป็นอย่างดี   จึงขอยกบางช่วงบางตอนมาตอบคำถามคุณศิรินาถ ดังต่อไปนี้

“.. ประมาณปลายปี ๒๕๔๕  ตอนนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่อยู่ในระยะเริ่มต้นยังไม่ชัดเจนในการทำงานเท่าใดนัก  แต่ สสส. คิดว่า การจัดการความรู้น่าจะช่วยและทำให้ สสส. สามารถทำงานสร้างเสริมสุขภาพในสังคมไทยได้ดี  ถึงแม้ตอนนั้น สสส. เอง  ยังเข้าใจการจัดการความรู้อย่างลางๆ  ประกอบกับ ช่วงนั้น ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เพิ่งสิ้นสุดการเป็น ผอ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาระยะหนึ่ง  ได้ถูกกระตุ้นจาก ศ.นพ.ประเวศ วะสี ว่า ต่อไปจะทำประโยชน์อะไรให้กับบ้านเมือง……

ในระยะเริ่มต้น สคส. เองยังไม่รู้จัก KM เท่าไรนัก  และเข้าใจผิดด้วยซ้ำเหมือนปัจจุบันนี้ที่คนไทยเข้าใจ KM ผิด  เพราะ KM เป็นเรื่องของการตีความ  ตอนนั้นเราเข้าใจว่า KM คือ การ Packaging ความรู้  เพื่อให้คนอื่นเอาไปใช้  แต่เริ่มทำงานได้ไม่กี่เดือน  เราก็รู้ว่าการตีความแบบนี้ผิด…… การตีความ KM จะถูกหรือผิดนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ  แต่ที่สำคัญคือถูกหรือผิดเพื่อการทำงาน (Operating Definition)   จากนั้นเราจึงตีความใหม่ว่า KM คือกระบวนการที่ผู้ใช้ความรู้ในการทำงาน  เป็นผู้ลงมือทำ Knowledge Packaging เอง เพราะ Knowledge Packaging เกิดขึ้นในผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่เกิดขึ้นกับนักวิชาการ…… ยุทธศาสตร์ของ สคส. คือ การทำไปเรียนรู้ไป เรียนรู้จากการปฏิบัติควบคู่กับทฤษฎี ตำรา และหนังสือทั้งหลาย  การที่ สคส. ใช้เงินน้อย เพราะจากเดิมเราของบประมาณจาก สสส. มาค่อนข้างสูง  เพราะคิดว่าจะสนับสนุนทุนให้ทำ KM แต่เมื่อทำงานมาได้ประมาณ ๒ เดือน ก็รู้ว่าวิธีนี้ผิด เพราะจะทำให้หน่วยงานทั้งหลายทำ KM เพราะอยากได้เงิน……. จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สคส. พบว่า KM ที่ทำกันอยู่ส่วนใหญ่เป็นของปลอม  เพราะทำเพื่อจะบอกว่า ทำ KM แล้ว  อยากได้คะแนนจาก ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ)  แต่ KM ที่เป็นของแท้นั้นทำแล้วตัวเองมีความสุขในการทำงาน  ทำงานได้ดีขึ้น  เกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  ทำงานด้วยกันก็รักกัน   ซึ่งในหน่วยราชการส่วนใหญ่  คนที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกันมักจะไม่ชอบหน้ากัน  ทำให้เบื่อไม่อยากมาทำงาน  แต่ที่ สคส. เรามาทำงานแต่เช้า  มาถึงก็จะคุยกัน  ว่าไปทำกิจกรรมเป็นอย่างไร  ไปแล้วหน้าแตกกลับมา  หรือไปแล้วประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ  แล้วก็มาถ่ายทอดว่าทำไมจึงหน้าแตก  ทำไมจึงทำสำเร็จจนไม่น่าเชื่อ  เรานำสิ่งเหล่านี้มาแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ นี่คือ KM

ผลที่เกิดขึ้นคือคนจะถูกกระตุ้น  ที่เรียกว่า “ตื่นรู้” (Awakening)  KM ทำให้เรารู้ว่า  มีวิธีการที่จะทำให้ศักยภาพของความเป็นมนุษย์ออกมา  ศักยภาพความเป็นมนุษย์เป็นของฟรี   ที่ทุกคนต้องมี   แม้แต่คนที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี  เลว ขึ้เกียจ หรือไม่เอาถ่าน เขาก็มีศักยภาพของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน..